จีนแก้เกมเอดีเหล็ก ยึดอาเซียนขยายการผลิต ห่วงก่อสงครามการค้ายุโรป

สินค้าหลายหมวดหมู่จากจีนยังยึดครองตลาดในไทย และมีแนวโน้มพ่อค้าจีนจะเล่นกลปักหมุดครองเมืองแบบที่ทำกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่สินค้าเกษตรอย่างทุเรียน ที่ล้งจีนคุมตลาดในพื้นที่ภาคตะวันออก

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเหล็กที่จีนมีลูกเล่น ในการเลี่ยงพิกัดอัตราภาษีศุลกากรแม้จะถูกไทยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) แต่ก็ยังเข้ามายึดครองตลาดในไทยและในกลุ่มประเทศอาเซียนได้อย่างง่ายดาย และนับวันปริมาณและมูลค่ายิ่งสูงขึ้น

ล่าสุด นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความท้าทายอุตสาหกรรมเหล็กของไทยนับจากนี้ รวมถึงแนวทางที่ภาครัฐต้องรีบผลักดันเร่งด่วนและจริงจังในการรับมือ

  • อเมริกา-ยุโรปสกัดเข้มเหล็กจีน

นายวิโรจน์ กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่ผลิตเหล็กมากที่สุดในโลก ข้อมูลล่าสุดปี 2565 จีนผลิตเหล็กมากถึง 1,018 ล้านตัน ขณะอันดับ 2 คืออินเดีย ผลิตเพียง 118 ล้านตัน ในหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกใช้มาตรการปกป้องสินค้าเหล็กจากประเทศจีนกันมาก ตัวอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกาใช้ มาตรา 232 เก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากทั่วโลกที่ส่งเข้าไปในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน แต่สหรัฐฯ มีการยกเว้นโดยเปิดเป็นโควตาเหล็กให้กับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ คาดจะมีมาตรการร่วมระหว่างอียูกับสหรัฐฯออกมาเพื่อตอบโต้การเพิ่มกำลังการผลิตจนเกินความต้องการของประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนส่งเข้าสู่สหรัฐฯ และยุโรปยากขึ้นไปอีก

วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

“นี่ยังไม่นับมาตรการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของอียู หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ CBAM ซึ่งเริ่มมีผลบังคับให้สำแดงข้อมูลคาร์บอนในปีนี้และจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการในปี 2569 จะยิ่งทำให้สินค้าเหล็กจากจีนส่งออกไปยังตลาดโลกได้ยากยิ่งขึ้น”

สำหรับปัญหาการหลีกเลี่ยงพิกัดศุลกากร หรือการเปลี่ยนชนิดของสินค้าเพื่อไม่ให้เข้าเกณฑ์การถูกเก็บภาษีทุ่มตลาดของอาเซียนและไทย ถือเป็นช่องโหว่ หากจะแก้ปัญหานี้จะต้องมีการใช้มาตรการการตอบโต้การหลีกเลี่ยงภาษีการทุ่มตลาดซึ่งเป็นมาตรการที่ทั่วโลกใช้กันโดยทั่วไป แบบที่สหรัฐฯหรืออียูใช้ เรียกว่า มาตรการตอบโต้การหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาด (AC – Anti Circumvention) ซึ่งคาดว่าจะใช้กันอย่างเข้มข้นในอนาคต รวมถึงวิธีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอนต่อสินค้านำเข้าแบบที่อียูนำมาใช้ ซึ่งมีกระแสว่าเวียดนามกำลังศึกษาที่จะนำมาใช้กับสินค้าเหล็กที่นำเข้าเวียดนามในอนาคต

จีนแก้เกมเอดีเหล็ก ยึดอาเซียนขยายการผลิต ห่วงก่อสงครามการค้ายุโรป
  • จีนแก้เกมยึดอาเซียนแหล่งผลิต

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าว จะนำมาซึ่งความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็กปี 2567 ที่ต้องจับตา จากหลายปีมานี้ทั่วโลกพยายามใช้มาตรการทางการค้า เกิดเป็นสงครามการค้าเข้มข้นมากขึ้น โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของจีนแก้เกมด้วยการมีแผนย้ายฐานผลิต มาตั้งโรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ทั้งที่เกินกว่าความต้องการของการบริโภคในกลุ่มอาเซียนที่จะรองรับได้

ประเมินว่าในอีก 4-5 ปีนับจากนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาทำกำลังผลิตส่วนเกินของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยสถาบันเหล็กอาเซียน (SEAISI) ได้มีการศึกษาโดยนับกำลังการผลิตของโครงการที่มีข่าวจะลงทุนสร้างโรงงานใหม่ของกลุ่มประเทศอาเซียนว่าจะมีโครงการตั้งโรงถลุงเหล็กและการตั้งเตาหลอมเหล็กมากขึ้น

จะทำให้กำลังการผลิตเหล็กของกลุ่มอาเซียนจากเดิม 75 ล้านตันในปี 2564 จะเพิ่มเป็น 145 ล้านตันในปี 2569 ซึ่งเกินกว่าการบริโภคของกลุ่มประเทศอาเซียน จากปกติอาเซียนจะบริโภคเหล็กประมาณ 70-80 ล้านตันต่อปีเท่านั้น แน่นอนว่าจะทำให้กลุ่มอาเซียนกลายเป็นประเทศส่งออกเหล็กซึ่งอาจจะเกิดปัญหาสงครามทางการค้าเหล็กระหว่างอาเซียนกับประเทศในกลุ่มตะวันตกในอนาคตได้ ถ้าการลงทุนดังกล่าวเกิดขึ้นจริงในอนาคต

ดังนั้นผู้ประกอบการเหล็กในอาเซียนเอง จึงต้องเตรียมการคิดให้รอบคอบ สร้างโอกาสลงทุนผลิตสินค้าชนิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีการผลิตหรือสินค้าที่จะมีการใช้งานมากขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในอนาคตเช่น เหล็กคุณภาพสูงที่ใช้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องจักรกล โดยควรหยุดการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเหล็กเพิ่มเติมในสินค้าที่ล้นตลาดอยู่เดิมแล้ว เช่น เหล็กเส้น เหล็กแผ่นที่ใช้ในงานก่อสร้างทั่วไป เป็นต้น

  • เหล็กจีนไปตลาดโลกสร้างสถิติใหม่

อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนปีโควิดคือ 2561 ประเทศจีนส่งออกเหล็กไปตลาดโลกทั้งหมด 82.4 ล้านตัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการส่งออกในปริมาณที่สูงอยู่แล้ว พอโควิดเริ่มระบาดในช่วงปลายปี 2562 ทำให้ถัดมาปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่โควิดระบาดหนักที่สุดการส่งออกของจีนก็ลดลงเหลือ 69.5 ล้านตัน

แต่ล่าสุดปีที่แล้ว (2565 )สถานการณ์การส่งออกของประเทศจีนกลับมาสูงกว่าปีปกติก่อนหน้าโควิดอีก  โดยปี 2565 จีนส่งออกเหล็กสู่ตลาดโลกถึง 92.0 ล้านตันและในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 นี้จีน มีการส่งออกถึง 66.2 ล้านตันซึ่งหมายความว่าที่เหลือ อีก 5 เดือน ถ้ายังส่งออกในระดับนี้ จีนน่าจะทำลายสถิติส่งออกเหล็กในรอบ 5 ปี กล่าวคือน่าจะส่งออกรวมได้เกิน 100 ล้านตันในปีนี้

“สำหรับตลาดอาเซียนถือเป็นสัดส่วน 23% ของการส่งออกเหล็กทั้งหมดของจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดสำคัญของเหล็กจีน จึงคาดการณ์ได้ว่าปริมาณเหล็กส่งออกของจีนในกลุ่มอาเซียนน่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้และปีหน้าค่อนข้างแน่นอนแล้ว และน่าจะทำลายสถิติในปีนี้และปีหน้าด้วย”

เวลานี้มีเหตุการณ์ที่สำคัญก็คือ การชะลอตัวด้านอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศจีน ที่ไม่ได้สูงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้น แต่บรรดาโรงงานเหล็กมีการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่องหลังปัญหาโควิดคลี่คลายลงตั้งแต่ปีที่แล้ว จึงมีเริ่มมีการระบายสินค้าจากจีนมายังตลาดโลกเป็นปริมาณสูงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงวันนี้โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งมาตรการปกป้องตลาดมักจะไม่รุนแรงเหมือนมาตรการของในยุโรปและอเมริกา

จีนแก้เกมเอดีเหล็ก ยึดอาเซียนขยายการผลิต ห่วงก่อสงครามการค้ายุโรป
  • พ่อค้าจีนตั้งโกดังหนุนขายเหล็กในไทย

นายวิโรจน์กล่าวอีกว่า สถิติการส่งออกเหล็กของประเทศจีนมายังประเทศไทยในปีที่แล้ว ทั้งปีมีปริมาณ 3.7 ล้านตันแต่ถ้านับสถิติ 7 เดือนแรกในปีนี้ ปี 2566 จีนส่งออกมาประเทศไทยมากถึง 2.8 ล้านตันแล้ว ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวถ้าเราคำนวณที่ 12 เดือน ในปีนี้ตัวเลขการส่งออกของประเทศจีนมายังประเทศไทยน่าจะ แตะระดับ 4.8 ล้านตัน นับเป็นสถิติใหม่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่ากังวล

ยิ่งตอนนี้สถานการณ์ของประเทศไทยจะคล้าย ๆ สินค้าอีกหลากหลายประเภทกล่าวคือ พ่อค้าชาวจีนมีการเข้ามาตั้งโกดังสต็อกสินค้าเพื่อสนับสนุนการขายเหล็กและการจัดส่งภายในประเทศไทยโดยตรง ซึ่งจะเป็นโมเดลทางธุรกิจการค้าเหมือนกับสินค้าประเภทอื่น ๆที่ปัจจุบันได้มีการส่งเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ตอนนี้เริ่มกระจายไปแทบทุกวงการ

  • จี้ปลดล็อกทุ่มตลาดเหล็กให้เด็ดขาด

นายวิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ขอสนับสนุนการค้าเสรีแต่ต้องเป็นการค้าเสรีที่เป็นธรรม การทุ่มตลาดเป็นพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมในระดับโลก หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีกฎหมายเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-Dumping) ที่ใช้ได้ผล  คือต้องไต่สวนอย่างรวดเร็วและเสริมด้วยกฎหมายการตอบโต้การหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาดหรือเรียกว่ากฎหมาย Anti Circumvention ต้องมีการบังคับใช้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เหมือนในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ประเทศไทยเริ่มจะมีแนวโน้มใช้มาตรการไต่สวนการหลีกเลี่ยงการทุ่มตลาดแล้ว ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่จะอยู่ในสินค้าประเภทเหล็กและเหล็กกล้า ยกตัวอย่างเช่นในอดีตพอประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีภาษีการตอบโต้การทุุ่มตลาดที่ได้ผลทำให้ประเทศผู้ส่งออกก็เปลี่ยนมาเป็นส่งสินค้าประเภทเหล็กอัลลอยเข้ามาแทนที่เหล็กกล้าชนิดเดิม แบบนี้ก็ควรจะใช้มาตรการกฏหมายตอบโต้การหลีกเลี่ยงโดยไต่สวนให้เป็นธรรมและรวดเร็ว รวมถึงการแก้ไขกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นรวดเร็ว และง่ายต่อการใช้งานมากขึ้นเหมือนกับหลายๆประเทศในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกาด้วย

“อย่างไรก็ตามปีนี้ประเทศไทยนำเข้าเหล็กน้อยกว่าปีที่แล้วเล็กน้อยเนื่องจากมีสินค้าคงคลังยกมาจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก คาดว่าการนำเข้าปีนี้จะยังไม่ทะลุ 5 แสนล้านบาท ประเทศไทยมีจุดเด่นคือ เรามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต่อเนื่อง และยังมีการจูงใจในการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ซึ่งหมายรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ซึ่งอันดับแรกคือ การส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made In Thailand) น่าจะขยายผลมากขึ้นจากเดิมส่งเสริมในโครงการภาครัฐให้รวมถึงโครงการ PPP (Public Private Partnership หรือ PPP)  หรือการก่อสร้างในโครงการร่วมทุนสัมปทานระหว่างภาครัฐและเอกชน จะช่วยผู้ผลิตภายในประเทศและเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวโน้มการจัดระเบียบซัพพลายเชนของโลกยุคใหม่ที่เน้นการพึ่งพาตนเองมากขึ้น”

จีนแก้เกมเอดีเหล็ก ยึดอาเซียนขยายการผลิต ห่วงก่อสงครามการค้ายุโรป
  • ควบรวมกิจการเหล็ก

ขณะที่ประเทศไทยเอง ที่ผ่านมาก็ยังมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินในสินค้าเหล็กบางชนิด ที่ผ่านมามีมาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กที่ล้นตลาด แต่ถ้ามีการส่งเสริมให้มีการควบรวมกิจการ เช่น มีมาตรการด้านภาษีต่าง ๆ แบบที่มีในกิจการสถาบันการเงินหรือธนาคารในหลายปีที่ผ่านมา

ข้อดี คือ การควบรวมจะทำให้งบการเงินเข้มแข็งลดปัญหาหนี้เสียในระบบ มีการใช้กำลังการผลิตอย่างคุ้มค่ามากขึ้น การปรับปรุงโรงงานให้ทันสมัยก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น เหมือนการรวมสาขาของธนาคารต่าง ๆจะเกิดประสิทธิภาพหลังการควบรวมกิจการ ในอุตสาหกรรมเหล็กเองทั่วโลกก็มีการควบรวมหรือซื้อขายกิจการกันเป็นปกติ ถ้ามีมาตรการสนับสนุนก็จะเป็นตัวเร่งให้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมมีการยืดหยุ่นมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง ๆ ในระดับหมื่น ๆ ล้านแบบโรงงานผลิตเหล็กจะมีโอกาสปรับโครงสร้างได้ง่ายขึ้น

“มองว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กยังคงรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในระดับโลกแต่ภูมิภาคของเราจะมีการใช้เหล็กมากขึ้น โรงงานเหล็กของไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำเพียง 30% แสดงว่าเรายังมีโอกาสผลิตเหล็กได้มากกว่านี้ โรงงานของไทยได้ปรับปรุงโรงงานให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีการส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตได้เองภายในประเทศลดการนำเข้าใช้เหล็กที่ผลิตเองในกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

แหล่งที่มา.ฐานเศรษฐกิจ