ปีนี้จีนส่งออกเหล็กมากที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งนั่นไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการเจ้าถิ่นอย่างที่โรงงานเหล็กในไทยต้องเผชิญ แต่ส่งผลกระทบต่อผู้ค้าเหล็กข้ามชาติด้วยกันด้วย และส่อเค้าที่จะสร้างความขัดแย้งหรือสงครามทางการค้าระลอกใหม่
“นิกเคอิ เอเชีย” (Nikkei Asia) รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การส่งออกเหล็กของจีนพุ่งสูงขึ้นถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อตลาดต่างประเทศและจุดชนวนความขัดแย้งทางการค้า โดยจีนส่งออกเหล็กประมาณ 90 ล้านตันในปี 2023 นี้ เข้าใกล้สถิติปี 2015 ที่ส่งออกมากถึง 110 ล้านตัน ซึ่งเป็นปีที่หลายประเทศทั่วโลกต้องงัดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping) มาใช้กับเหล็กจีน
ผู้บริหารของบริษัทขนส่งทางทะเลรายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง ที่เพิ่งเดินทางมาประเทศไทย ได้แสดงความประหลาดใจที่เห็นว่า “เหล็กจีน” เข้ามาพลิกโฉมตลาดอาเซียนไปอย่างไรบ้าง และเขาแสดงความเห็นว่า แม้จะมีมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่เหล็กชุบและผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันก็ยังสามารถผ่านเข้ามาได้ และดูเหมือนว่าการไหลบ่าเข้ามาของเหล็กของจีนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน เป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับเหล็กจีน โดยในเดือนกันยายน 2023 จีนส่งออกเหล็กมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณ 60% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YOY) การส่งออกไปยังมาเลเซียเพิ่มขึ้นประมาณ 80% ส่งออกไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 2 เท่า และส่งออกไปเวียดนามเพิ่มขึ้น 4 เท่า
สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าของอินโดนีเซียได้โน้มน้าวรัฐบาลให้ดำเนินมาตรการปกป้องอุตสาหกรรม ขณะที่รัฐบาลเวียดนามได้เริ่มพิจารณาการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการค้า ส่วนประเทศในอเมริกาใต้และตะวันออกกลาง ซึ่งนำเข้าเหล็กจีนในปริมาณมากต่างก็เพิ่มความระมัดระวังเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ผลผลิตเหล็กของจีนกำลังแสดงสัญญาณการชะลอตัวลงแล้ว ตามข้อมูลเบื้องต้นจากสมาคมเหล็กโลก จีนผลิตเหล็กดิบได้ 79.1 ล้านตันในเดือนตุลาคม ลดลง 1.8% (YOY) แต่ยอดรวม 10 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 874.7 ล้านตัน ยังคงสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กจีน คือ ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศลดลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ทำให้ดีมานด์เหล็กลดลงอย่างมีนัยสำคัญกว่าการชะลอตัวของฝั่งการผลิต
บริษัทเหล็กรายใหญ่ในจีนระบุว่า ดีมานด์ที่น้อยลง ส่งผลให้ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในจีนลดลงเหลือเกือบ 500 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในฤดูใบไม้ร่วงนี้ (กันยายน-พฤศจิกายน) จากที่เคยมีราคาสูงประมาณ 900 ดอลลาร์ในช่วงกลางปี 2021 และขณะนี้เหล็กส่วนเกินกำลังถูกส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยได้แรงหนุนจากเงินหยวนที่อ่อนค่าและการส่งออกอย่างท่วมท้นของจีน ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดเอเชียลดลงอย่างรวดเร็ว
จีนไม่ได้เพิ่มการส่งออกแค่เหล็กที่ราคาถูกอย่างที่เคยทำในอดีต แต่กำลังเปลี่ยนไปเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงด้วย ซึ่งแนวทางใหม่นี้ได้สร้างแรงกดดันให้แก่ผู้ผลิตเหล็กในประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นญี่ปุ่น
การส่งออกเหล็กรีดร้อนของจีนพุ่งสูงถึง 14 ล้านตันในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2023 สูงกว่ายอดรวมทั้งปี 2015 ขณะที่การส่งออกเหล็กเส้นซึ่งเป็นสินค้าเหล็กราคาถูกมีจำนวนน้อยกว่า 5 ล้านตัน ซึ่งห่างไกลกันมากกับปี 2015 ที่ส่งออกมากกว่า 30 ล้านตัน
การส่งออกเหล็กของจีนไปยังญี่ปุ่นในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมปีนี้เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของการส่งออกมายังตลาดอาเซียน แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์บางอย่างของจีนไปยังญี่ปุ่น เช่น เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนกำลังอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตุรกีได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดสำหรับเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งไม่เพียงบังคับใช้กับเหล็กจากจีนเท่านั้น แต่ยังใช้กับเหล็กจากอินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่นด้วย นั่นทำให้ผู้ประกอบการจากประเทศอื่น ๆ รู้สึกไม่พอใจที่ต้องโดนผลกระทบตามการกระทำของจีนไปด้วย
ตัวแทนจากสหพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถเพิกเฉยต่อความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มาตรการป้องกันที่ประเทศต่าง ๆ ใช้นั้น สามารถใช้กับเหล็กทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มา
แหล่งที่มา.ประชาชาติธุรกิจ