“ทาทา สตีล” เจอเหล็กจีนดัมพ์ตลาด กำไร Q3 หด จับตาวิกฤตโลก

วิกฤตเหล็กจีนดัมพ์ตลาด “ทาทา สตีล” งบการเงินไตรมาส 3 (ต.ค.-ธ.ค.) กำไรติดลบ 96 ล้าน เร่งรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินปี’67 ฟื้นอุตสาหกรรมเหล็ก จับตาวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์-เลือกตั้ง 40 ประเทศทั่วโลก หนุนใช้ระบบ Reverse Charge Tax

วันที่ 31 มกราคม 2567 ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและต้องพึ่งพาเศรษฐกิจเอเชีย ขณะที่ประเทศจีนเองก็กำลังเจอกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จนต้องเร่งระบายเหล็กส่งออก พานกระทบอุตสาหกรรมเหล็กไทย ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจ “บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย)จำกัด” วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ-จับตามองวิกฤตโลก พร้อมเปิดผลประกอบการไตรมาส 3 ปีการเงิน 2567(ตุลาคม-ธันวาคม 2566)

นายตารุน คูมาร์ ดากา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อผ่อนคลายลงจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของภาครัฐ รวมถึงการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน

อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากนโยบายฟรีวีซ่าทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวประกอบกับรัฐบาลกำลังพยายามออกมาตรการสนับสนุนหลาย ๆ ด้าน อาทิ เร่งกระบวนการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินปี 2567 นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ อาทิ กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) และโครงการ Easy E-Receipt ตลอดจนนโยบายควบคุมต้นทุนค่าพลังงานในช่วงมกราคม-เมษายน 2567

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ยังต้องจับตามองกันต่อ อย่างการส่งออกของประเทศไทยที่ปรับตัวลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือผลกระทบจากภัยแล้ง ตลอดจนหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้อาจจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567

ยอดใช้เหล็กลด-เหล็กจีนดัมพ์ตลาด

แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ปริมาณการใช้เหล็กโดยรวมของประเทศไทยลดลง 9.1% เมื่อเทียบของปีก่อน จากเดิมที่ 15,236 ล้านตัน มาอยู่ที่ 15,093 ล้านตันในปี 2566 ทำให้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศลดลงเหลือ 28% ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าเหล็กลวดราคาถูกเพิ่มขึ้น 10.5% ในปี 2566

โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนที่กระทบต่อกำลังการบริโภคภายในประเทศยิ่งการส่งออกเหล็กสำเร็จรูปของจีนเพิ่มขึ้น 35.4% ต่อปีเป็น 85.2 ล้านตันในช่วง 11 เดือนของปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าการบริโภคเหล็กในประเทศไทยปีนี้ทรงตัวในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหล็กทรงยาว เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐชะลอตัวจากการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ล่าช้า

ซึ่งการบริโภคเหล็กทรงยาวระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 5.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 12,000 ตัน แต่ก็คาด การใช้จ่ายของภาครัฐเร่งตัวขึ้นตั้งแต่กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป ภายหลังอนุมัติงบประมาณแผ่นดินปี 2567 จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้ฟื้นกลับมาขึ้น

จับตาภูมิรัฐศาสตร์-เลือกตั้ง 40 ประเทศ

แม้ว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรืออิสราเอล-ปาเลสไตน์ จะไม่ได้กระทบต่อธุรกิจในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องติดตามต่อไป เพราะในอนาคตอาจนำไปสู่การกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นหรือการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานได้ นอกจากนี้ ผลกระทบของการขอคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงในปี 2565 และ 2566 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างกะทันหัน ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนที่อาจมีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงต้องจับตาการเลือกตั้งใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และอินเดีย ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย ตลอดจนมาตรการกีดกันภาษีคาร์บอนในยุโรปที่นับว่าเป็นทั้งอุปสรรคและความท้าทายของอุตสาหกรรมเหล็ก

ไตรมาส 3 “ทาทา สตีล” กำไรหดติดลบ 96 ล้าน

นายตารุนเปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัท สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปีการเงิน 2567 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทได้รายงานผลขาดทุนก่อนภาษีเงินได้ 96 ล้านบาท ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 เทียบกับผลขาดทุนก่อนภาษีเงินได้ 59 ล้านบาท ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 และขาดทุนก่อนภาษีเงินได้ 80 ล้านบาท ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 สำหรับช่วงระยะเวลา 9 เดือน (เมษายน -ธันวาคม 2566) บริษัทรายงานผลขาดทุนก่อนภาษีเงินได้ 107 ล้านบาท เทียบกับกำไร 572 ล้านบาท ในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคม 2565 ดังนี้

“ปริมาณการขายในไตรมาสนี้อยู่ที่ 253,000 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อน 12% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าเหล็กลวดและยอดขายส่งออกลดลง สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ปริมาณการขายของบริษัทอยู่ที่ 800,000 ตัน ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดว่าอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าเดิม ที่ตั้งไว้ว่า 1,200,000 ตัน เนื่องจากความต้องการในประเทศได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กลวดราคาถูกเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงยอดขายส่งออกที่ลดลงด้วย”

รายได้จากการขายในไตรมาสนี้อยู่ที่ 5,493 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสที่แล้วและไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของตลาดและปริมาณการขายที่ลดลง สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน รายได้จากการขายของบริษัทอยู่ที่ 17,775 ล้านบาท ลดลงประมาณ 24% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

“ทาทา สตีล” ชี้ราคานำเข้าต้องเป็นธรรม

นายตารุนกล่าวว่า เพื่อที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กให้มากยิ่งขึ้น นั่นคือการนำระบบตรวจสอบภาษีมูลค่าเพิ่มแบบย้อนหลัง (Reverse Charge VAT) หรือระบบหักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อป้องกันการใช้ใบกำกับภาษีปลอมผ่านการใช้ระบบดิจิทัล รวมถึงยังสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการของเสีย (เศษเหล็ก) อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการเหล็ก และที่สำคัญคือต้องดูแลราคานำเข้าเหล็กที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้เอกชนในไทยสามารถแข่งขันได้ พร้อมสนับสนุนสินค้าเมดอินไทยแลนด์อย่างจริงจัง

“เราได้สังเกตเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลาย แนวโน้มการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน รัฐบาลมีความตระหนักถึงราคาพลังงาน ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่กำลังดีขึ้น รวมถึงการริเริ่มนโยบายของการเดินทางการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า อีกทั้งเรายังคาดหวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดขั้นตอนการอนุมัติงบประมาณและการเบิกจ่าย ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ โดยภาพรวม บริษัทคาดหวังว่าในปี 2567 ความเชื่อมั่นน่าจะดีขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2566 และในขณะเดียวกันและในขณะเดียวกันต้องจับตามองผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการปรับตัวของการบริโภคภายในประเทศจีน” นายตารุนกล่าว

แหล่งที่มา.ประชาชาติธุรกิจ