ขณะที่จีนเปิดปฏิบัติการยึดไทยเป็นฐานการผลิต ชิงความได้เปรียบด้านราคาขาย และยังสร้างโกดังเพื่อใช้กระจายสินค้าเหล็กจากจีน ตีตลาดไทยกระจุย จึงไม่แปลกที่นายทุนอุตสาหกรรมเหล็กในยุคบุกเบิกของไทยค่อยๆ ทยอยหายไปทีละค่าย
ล่าสุด นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” แบบหมดเปลือก กับปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กที่ไม่มีท่าทีจะแผ่วลง พร้อมเสนอมุมมองและข้อเสนอแนะอย่างตรงประเด็น
- งงเหล็กไทยมีตรรกะที่แปลก
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยเวลานี้มีตรรกะและบริบทที่แปลก โดยทางฝั่งซัพพลาย ไทยมีกำลังการผลิต 14 ล้านตันต่อปี แต่มีการนำเข้าเหล็กประมาณ 10 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 60-70% ของการบริโภค โดยผู้ผลิตเหล็กของไทยยังใช้กำลังการผลิตที่ระดับ 30-40% เท่านั้น ขณะที่ทางฝั่งดีมานด์ ช่วง 10 ปีมานี้ไทยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเยอะมาก แต่ความต้องการใช้เหล็กยังเฉลี่ย 16-18 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
ในมุมการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น มาตรการทางภาษี พบว่ามีการประกาศใช้มาตรการไล่ตั้งแต่ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(AD) สินค้าเหล็กนำเข้า ซึ่งมีหลากหลายรายการมาก แต่การนำเข้ากลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนอุตสาหกรรมเหล็กถูกครหาว่า “เลี้ยงไม่โต ต้องอุ้มตลอด” หรือการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การกำหนดมาตรฐานสินค้า พบว่าสินค้าเหล็กมีมาตรฐานประเภทบังคับในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าอื่น แต่กลับพบว่าไทยมีการใช้สินค้าเหล็กโดยเฉพาะที่นำเข้ามามีคุณภาพที่ด้อยลงกว่าเดิมมาก
ในมุมโครงสร้างอุตสาหกรรมโดยรวม ไทยไม่มีเหล็กต้นนํ้า มีค่าพลังงานที่สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่ไทยกลับถูกหลายประเทศทั้งฝั่งอเมริกา ยุโรป และเอเชียด้วยกัน ฟ้องว่าไทยส่งสินค้าเหล็กออกไปขายในลักษณะดัมพ์ราคา และทุ่มตลาดในประเทศเขาโดยขายตํ่ากว่าเมื่อเทียบกับราคาที่ขายในประเทศ แต่พอมาสำรวจดูราคาขายในประเทศผ่านงบการเงินของผู้ผลิตไทย พบส่วนใหญ่ขาดทุน ซึ่งราคาขายเหล็กในประเทศ ณ เวลานี้เทียบเป็นบาทต่อกิโลกรัมยังตํ่ากว่าซี่โครงไก่เสียอีก (ราคาเหล็กที่ผู้ผลิตในประเทศขายได้ในปี 2566 เฉลี่ยลดลงจากปี ก่อน 10-20%)
ขณะที่ในมุมมองที่ออกสู่สาธารณะมักจะพบการออกมาคัดค้าน หรือแสดงความกังวลว่าภาครัฐใช้มาตรการอุ้มผู้ผลิตมากไป จะไม่แข่งขัน จะฮั้วกันและทำให้ผู้บริโภคซื้อเหล็กแพง ทั้งที่เหล็กเป็นสินค้าควบคุมราคาหน้าโรงงานมาหลายสิบปีแล้ว
“สรุปได้ว่าอุตสาหกรรมเหล็กยังคงเหนื่อยต่อไปแน่นอน ถ้ายังมีบริบทแบบนี้ และจะมีความเสี่ยงที่หนักขึ้นกว่าเดิม ด้วยสาเหตุรูปแบบการค้าปรับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาของธุรกิจเหล็กจีนทั้งในรูปของการเข้ามาตั้งโรงงานผลิต ตั้งเป็นโกดังสินค้านำเข้าที่พร้อมส่งมอบ รวมถึงมีพนักงานขายตรงไปที่ร้านค้าย่อยหรือผู้ใช้โดยไม่ผ่านตัวกลางเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ”
- ยิ่งตอบโต้ยิ่งหลบเลี่ยงนำเข้าง่าย
สำหรับทางออกของอุตสาห กรรมเหล็ก เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งคงไม่วิน วิน ในช่วงแรกแต่ระยะยาวจะดีขึ้น ตัวอย่างเช่น กรณีภาครัฐที่เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ไล่จากกรมการค้าต่างประเทศ ต้องไปพิจารณาทบทวนการใช้มาตรการ AD และมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงการทุ่มตลาด (AC) ของไทยกับของประเทศอื่นว่าทำไมแตกต่างกัน ทั้งที่อยู่ภายใต้กฎกติกาขององค์การการค้าโลก(WTO) เหมือนกัน มีการใช้พิกัดศุลกากรในการตรวจสอบแบบละเอียดถึง 11 หลักในช่วงที่ผ่านมา แต่ผลลัพธ์กลับมีการหลบเลี่ยงการนำเข้าง่ายขึ้นกว่าเดิม จะมีการปรับไปใช้พิกัดแบบ 6 หรือ 8 หลัก อย่างที่ฝั่งยุโรปและอเมริกาใช้แล้วได้ผลดีกว่าหรือไม่
หรือแม้แต่การประกาศใช้มาตรการ AD กับสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ที่เป็นต้นทาง เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน/รีดเย็น กับสินค้าปลายทางเช่น ท่อเหล็กแปรรูปต่าง ๆ ในขณะที่สินค้ากลางทาง เช่นเหล็กเคลือบกลับไม่มีมาตรการหรือมีแต่ไม่ครอบคลุมมวลสารที่เคลือบทั้งหมด ก็จะทำให้กลุ่มเหล็กที่อยู่กลางนํ้าอยู่ไม่ได้ ทำให้มีการใช้มาตรการจริงแต่บิดเบี้ยว คนปลายทางก็อยากได้วัตถุดิบถูกที่เป็นสินค้ากลางทางอย่างเหล็กเคลือบจากการนำเข้า เพราะเคยชินกับการใช้สินค้าราคาถูกเมื่อเทียบกับการซื้อเหล็กเคลือบในประเทศที่ผู้ผลิตต้องซื้อวัตถุดิบในประเทศจากกลุ่มเหล็กต้นทางในราคาสูง
ทั้งนี้พอกลุ่มกลางทางที่เป็นเหล็กเคลือบไปยื่นให้ใช้มาตรการ AD ทีไรก็มักจะมีกลุ่มปลายทางไปคัดค้านตลอด ซึ่งถ้าปล่อยไปแบบนี้สินค้าต้นทางที่มีมาตรการ AD อย่างเหล็กรีดร้อนก็จะได้ประโยชน์ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เห็นได้จากสัดส่วนการผลิตท่อเหล็กจากเดิมใช้เหล็กรีดร้อนเป็นวัตถุดิบ 60-70% วันนี้เหลือเพียง 30-40% ขณะที่มีการนำเข้าเหล็กเคลือบสังกะสีที่เลี่ยงพิกัดมาในรูปสังกะสีผสมอลูมิเนียมและแมกนีเซียมที่เรียกกันในตลาดว่าเหล็ก ZAM มาใช้ทดแทนต่อเนื่อง จากเฉลี่ยเดือนละ1,000 กว่าตันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เป็นเดือนละ 9 หมื่นตันในปีที่ผ่านมา (เฉพาะจากประเทศจีนอย่างเดียว)
เรื่องนี้ถ้าแก้ทั้งระบบก็ต้องมีคนยอมเจ็บในตอนแรก ผู้ผลิตในทุกส่วนตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ก็ต้องช่วยกันแบบจริงจังโดยเฉพาะเรื่องราคา โมเดลหนึ่งที่อุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่นและเกาหลีเติบโตมาได้ หนึ่งในปัจจัยคือความเป็นชาตินิยมต้องมาก่อน ส่วนภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานก็ควรปรับให้มีมาตรฐานเดียว
คือมาตรฐานบังคับและต้องลดขั้นตอนการบังคับใช้ให้รวดเร็วเพราะยิ่งช้ายิ่งทำให้ของไม่ดีอยู่ในตลาดผลเสียจะตกไปยังผู้บริโภค ข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาที่กล่าวมา หากทุกภาคส่วนช่วยกันยังมีทางออกแน่นอน
- ไทยเปลี่ยนสถานะเป็นผู้นำเข้าเหล็ก
นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ถ้านับจากกำลังการผลิตเหล็กทุกชนิดรวมกัน เฉพาะภูมิภาคอาเซี่ยน ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 75 ล้านตันไทยเสียตำแหน่งการเป็นผู้นำในการผลิตเหล็กมาหลายปีแล้ว เพราะปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 4 ประมาณ 14 ล้านตัน อันดับ 1 คือ เวียดนาม 23 ล้านตัน อันดับ 2 อินโดนีเซีย 19 ล้านตัน อันดับ 3 มาเลเซีย 16 ล้านตัน และในอีก 3 ปีข้างหน้า กำลังการผลิตเหล็กในภูมิภาคอาเซียนจะเพิ่มไปอีกเท่าตัวคือขึ้นไปถึง 150 ล้านตัน
จากการที่จีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นไปอีก ไทยก็จะหล่นไปอยู่อันดับ 5 โดยมีมาเลเซียขึ้นมาเป็นอันดับ 1ที่ 47 ล้านตัน อันดับ 2 อินโดนีเซีย 42 ล้านตัน อันดับ 3 เวียดนาม 29 ล้านตัน อันดับ 4 ฟิลิปปินส์ 18 ล้านตัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นจากความสามารถในการผลิตที่ไทยมีอยู่ 14 ล้านตันนั้น ปรากฏว่ามีการใช้กำลังผลิตจริงลดน้อยถอยลงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันใช้กำลังผลิตเฉลี่ยเพียง 30 % ที่เหลือเป็นการนำเข้า ไทยจึงเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นผู้นำในการผลิตในภูมิภาคนี้ไปเป็นผู้นำในด้านการนำเข้าไปเรียบร้อยแล้ว
- ฝากการบ้านถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง
นายพงศ์เทพ กล่าวว่าต้องฝากการบ้านนี้ไปยังหลายหน่วยงานทั้งนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลเกี่ยวมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพราะหากไทยผลิตเองได้ลดลงเรื่อยๆ การจ้างงานก็จะลดลง ความมั่นคงด้านสินค้าเหล็กที่เป็นต้นทางไปสู่อีกหลายอุตสาหกรรมทั้งภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร รถยนต์ เครื่องจักรกลต่าง ๆ จะมีความเสี่ยงทันที
ขณะที่หากมองในมิติดุลการค้า มูลค่าเหล็กที่ไทยบริโภคในปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี หากดูเฉพาะดุลการค้ากับจีนประเทศเดียวในสินค้าเหล็กที่ไทยนำเข้าเกินกว่า 4 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน ขณะที่ไทยแทบไม่ได้ส่งออกเหล็กกลับไปที่จีนเลย เท่ากับว่าไทยขาดดุลการค้าในสินค้าเหล็กกับจีนถึงปีละประมาณ 2 แสนล้านบาทมีผลต่อ GDP มาก
โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์เคยวิเคราะห์ไว้ว่าการผลิตเหล็กภายในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตันจะส่งผลอัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงราว 0.19% และอัตราการขยายตัวของการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กจะลดลงราว 1.2 % ผลประโยชน์สาธารณะเวลาจะออกนโยบายอะไรเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็กในมิติทางเศรษฐกิจจึงสำคัญมาก
อย่างไรก็ตามมองว่าการแข่งขันทางการค้าปัจจุบัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญอย่างเหล็ก นโยบายและเครื่องมือของภาครัฐสำคัญอย่างมาก ทุกประเทศที่มีอุตสาหกรรมเหล็กก็ทำกัน เปรียบเสมือนใช้เกียร์ที่ถูกต้องช่วยขับเคลื่อนให้เร็วขึ้น และร่วมกันจับพวงมาลัยให้ตรงไปในทิศทางข้างหน้าสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ
“อุตสาหกรรมเหล็กไม่ได้โต้แย้งในเรื่องการค้าเสรี แต่เราไม่เห็นด้วยกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม เพราะการค้าที่ไม่เป็นธรรมมีแต่จะฉุดรั้งไม่เกิดการพัฒนา น่าเสียดุลการค้าด้านเหล็กหลายแสนล้านต่อปี อุตสาหกรรมเหล็กแทบไม่ได้พัฒนาไปไหนเพราะต้องกังวลว่าจะอยู่หรือไป และซ้ำร้ายไปกว่านั้นผู้บริโภคกลับเจอแต่สินค้าที่มีคุณภาพลดลงเรื่อย ๆ” นายพงศ์เทพ กล่าว
แหล่งที่มา .ฐานเศรษฐกิจ